เกิดมาอัจฉริยะ
ไม่ใช่เรื่องที่จะพบเห็นได้บ่อยนัก สำหรับแววความเป็น "อัจฉริยะ" ของเด็กคนหนึ่ง.... ระดับอัจฉริยะนั้น นับได้ว่าเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของชาติ ที่ไม่ควรมองข้าม หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกวิธี เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะสามารถสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างมาก ในทางกลับกัน หากไม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเหมาะสม และถูกวิธี ก็อาจสูญเสียศักยภาพได้ ...แล้วเราจะรอให้ถึงวันนั้นหรือ?!?
'เอ็มมิลี่'
เอ็มมิลี่เป็นเด็กหญิงลูกครึ่งไทย-ฮ่องกง เธอฉายแววฉลาดเฉลียว จนน่าคิดว่าเธออาจเป็นเด็กอัจฉริยะ พ่อแม่คนไหนๆ ก็คงภูมิใจที่มีลูกเก่งๆ อย่างเธอ และเธอก็เก่งจริงๆ เด็กหญิงวัยไม่ถึง 10 ขวบผู้นี้ ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นนักศึกษาสาขาฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัย แสตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
แต่...เอ็มมิลี่มีปัญหากับระบบการศึกษาไทย! เอ็มมิลี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างเด็กไทยที่มีแววอัจฉริยะ ที่ต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการจากความไม่เข้าใจของสังคม แต่ถึงกระนั้น ผู้ปกครองของเธอก็ไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้มาขัดขวางศักยภาพของลูกสาวของตน เมื่อสังคมไทยไม่มีที่สำหรับเด็กแบบเธอ โรงเรียนในต่างประเทศที่เปิดกว้างสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ จึงกลายเป็นแหล่งแสดงความสามารถและฟูมฟักความฉลาดเฉลียวของเด็กหญิงผ้นี้ แล้วประเทศไทยก็สูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าอีกคนไปอย่างน่าเสียดาย
"ระบบการศึกษาของเมืองไทยยังเป็นเหมือนกับขนมชั้น ที่แบ่งว่าพออายุเท่านี้ๆ ต้องเรียนอยู่ระดับนี้ ทำให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษหลายคนต้องทำลายศักยภาพตัวเอง ด้วยการทำให้ช้าลง ขณะที่ในต่างประเทศ เด็กอายุ 12 สามารถเข้าเรียนโรงเรียนแพทย์ได้ ดิฉันอยากเห็นการทำลายระบบ ทำลายกำแพงประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย" ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ป
ระธานสหพันธ์เอเชีย-แปซิฟิกแห่งสภาโลกเพื่อเด็กที่มีความสามารถพิเศษ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาคการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนรินทรวิโรฒ แสดงทัศนะต่อระบบการศึกษาไทย ที่กลับกลายเป็นกำแพงกีดกั้นความสามารถของเด็กเก่งเหล่านี้ มาถึงตรงนี้หลายคนอาจยังไม่เข้าใจหรือสงสัยว่า 'เด็กอัจฉริยะ' คืออะไร ทำไมหนอใครๆ จึงต่างพากันสนใจที่จะส่งเสริมและฟูมฟักกันขนาดนี้ เพื่อประโยชน์อันใดเล่า... ขณะเดียวกันสำหรับคนที่มีบุตรหลานในวัยกำลังซน ก็อาจกำลังเพ่งพินิจวิเคราะห์ว่า แล้วลูกฉันล่ะ...จะมีแววเป็นเด็กอัจฉริยะหรือเปล่า
'Gifted Child' เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
จากข้อมูลทางวิชาการ ผศ.ดร.อุษณีย์ กล่าวว่าในแวดวงวิชาการ มักไม่เรียกเด็กที่มีแววอัจฉริยะว่า "เด็กอัจฉริยะ" ขณะที่คนทั่วไปจะเรียกอย่างนี้ ซึ่งทำให้เกิดภาพว่าเป็น "สุดยอดมนุษย์" ในความหมายทางวิชาการ คำว่า "อัจฉริยะ" จะหมายถึงบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น และมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นดีกรีสูงสุดสำหรับการยกย่อง
ส่วนคนที่เก่งรองลงมาก็คือคนที่มี "ความสามารถพิเศษ" อาจจะเป็นผู้นำด้านต่างๆ ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อย ศัพท์สากลนิยมใช้ว่า กิ๊ฟท์เต็ด (Gifted) ทาเลนท์เต็ด (talented) ฯลฯ และถ้าเป็นเด็กที่มีแนวโน้มเป็นอัจฉริยะบุคคลก็เรียกว่า ไฮลี่ กิ๊ฟเต็ด (Highly Gifted) คือผู้ที่มีความสามารถพิเศษระดับสูง ไอคิวเกิน 160 หรือถ้าจะดูแววที่แสดงออกก็ได้ อย่างอัจฉริยะบางสายไม่จำเป็นต้องมีไอคิวสูง อาทิ ด้านดนตรี ศิลปะหรือกีฬา เป็นต้น
"เราคงรู้จักโมสาท ที่นุ่งผ้าอ้อมแต่งเพลง หรือลีโอนาโด ดาวินชี่ ที่เก่งหลายๆ ด้าน ในเมืองไทยก็มีคนแววอัจฉริยะมากมายเป็นร้อยราย อย่างน้องตุลย์เมื่อตอนอายุ 4 ขวบ หนังสือหลักๆ ที่แกอ่านเป็นจำพวกดอกเบี้ยธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ ผู้จัดการรายวัน อ่านทุกวัน น้องวรากร ที่คำนวณเลขได้ตั้งแต่ยังนุ่งผ้าอ้อม น้องโจประดิษฐ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ หรืออย่างน้องเอมิลี่ลูกครึ่งไทย-ฮ่องกง ก็เข้าแสตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาและของโลก เรียนเอกฟิสิกส์ ตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ"
'Gifted' เกิดจากอะไร
"คงเคยได้ยินว่าการเกิดของเด็กแต่ละคนนั้น พ่อแม่ก็จะเอาโครโมโซมของตัวเองทั้งหมดไปอยู่ในยีนส์ อนุมานว่าเป็นเครื่องปั่น ก็จะปั่นออกมาว่าเป็นลูกคนที่ 1, 2, 3 ซึ่งเด็กไม่สามารถเลือกเองได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของความฉลาดก็แล้วแต่ว่าเด็กคนไหนจะได้ส่วนนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของพันธุกรรม
ส่วนสาเหตุที่สอง เป็นโครงสร้างของเด็กเอง ที่จะเกิดมาเป็นกิ๊ฟท์เต็ด สมองของเขาอาจได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่" นั่นเป็นข้อเท็จจริงจากการศึกษาทางการแพทย์ ที่ ศ.ดร.พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา ผู้อำนวยการศูนย์เด็กพิเศษ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ และที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน
ศ.ดร.พญ.เพ็ญแข บอกด้วยว่า หากพ่อแม่ไม่ได้ดูแลเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างดี พวกเขาก็จะไม่แสดงความสามารถออกมาเต็มที่ เพราะเรื่องการเลี้ยงดูจะต้องส่งเสริม นอกเสียจากเด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งผู้ปกครองหรือครูอาจจะสังเกตได้
"จริงๆ แล้วเด็กอัจฉริยะเป็นเด็กเก่งมากๆ โดดเด่นมาเลย หมายความว่า เขาสามารถค้นหาอะไรด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองเด็กปานกลางและค่อนข้างเก่ง เด็กที่อยู่หัวเส้นกราฟประมาณเส้นบนนี่จะมีแววเป็นอัจฉริยะได้ และเด็กที่มีความสามารถพิเศษที่จะมาอบรมให้สามารถเรียนรู้จนจบปริญญาเอกแล้วมาทำงานวิจัยต่างๆ มีประมาณ 1-2% จำนวนนี้ก็มีอีก 1 ใน 1,000 ที่เป็นอัจฉริยะชั้นยอด"
ขณะที่ ผศ.ดร.อุษณีย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีเด็กไทยเกิดราว 1 ล้านคน จำนวนนี้จะมีประมาณ 1 พันรายที่เป็นอัจฉริยบุคคล หรือเท่ากับหนึ่งในหมื่นของแต่ละสาขา ได้แก่ ด้านนักคิด นักวิชาการ ดนตรี กีฬา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ผู้นำ และความคิดสร้างสรรค์ แล้วถ้านับเด็กไทยตั้งแต่รุ่นที่เพิ่งเกิดจนถึงอายุ 18 ปีจะมีกี่หมื่นคน แต่เด็กกลุ่มนี้หายไปไหนหมด
"กลุ่มประชากรที่มีความสามารถพิเศษนี้ ถูกกลืนหายด้วยอะไร น่าตกใจนะ ไม่ใช่ไม่มีเกิดขึ้น แต่เมื่อเขาเกิดมาแล้ว เราไม่สามารถเลี้ยงให้เป็นสุดยอดได้" ผลจากความไม่รู้ในหลายเรื่อง กลายเป็นปัจจัยให้เด็กที่มีแววอัจฉริยะถูกบั่นทอนความสามารถลงไป อันดับแรกด้านโภชนาการ จากการวิจัยพบว่า อาหารที่กินไม่เหมาะสม ทำให้เด็กอัจฉริยะกลายเป็นเด็กเอ๋อ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือการเลี้ยงดู ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กฉลาดหรือไม่ เพราะฉะนั้น การที่จะเกิดเด็กเก่งคนหนึ่งได้ ความรู้จึงเป็นรอง แต่ปัจจัยทางอารมณ์ สังคม มนุษยสัมพันธ์ การปลูกฝังคุณค่าในตัวเองต่างหากที่สำคัญ
"เราเห็นแนวโน้มคนที่มีปัญหาทางสังคมมาก แต่จะเห็นแนวโน้มคนที่จะเป็นอัจฉริยะน้อย นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง มีงานวิจัยออกมาว่า คนจะเก่งได้ต้องทุ่มเทเวลาให้สิ่งที่สนใจอาทิตย์หนึ่งอย่างน้อย 35 ชั่วโมง เด็กจะเก่งความรู้ใช้เพียง 10% ที่เหลืออีก 90% เป็นทักษะการใช้ชีวิต"
อย่างไรถึงเรียกว่า เด็ก 'Gifted' พบว่าคนที่ทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่นในเวลาเท่าๆ กัน กลุ่มนี้จะมีแววความเป็นเลิศทางสติปัญญา เช่น คนทั่วไปใช้เวลา 10 ชั่วโมงในการทำหรือคิดแก้ปัญหาในเรื่องหนึ่งๆ ในขณะที่อีกคนใช้เวลาเพียงน้อยนิดเท่านั้นก็ไปไกลกว่าแล้ว ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถแต่ละคนไม่เท่ากัน และเรามักเข้าใจผิดว่า คนที่มีความสามารถพิเศษจะวัดได้เฉพาะไอคิวเท่านั้น แท้จริงแล้ว ไอคิว คือเครื่องมือใช้วัดอย่างหนึ่งเท่านั้น
"ในเมื่อเครื่องมือไม่ได้มีให้วัดทุกเรื่อง จึงควรใช้การสังเกต เขาทำอะไรได้ดี นั่นแหละ คือแวว และไม่ต้อง ฉุดให้เขาทำตาม นี่คือจุดพลาดในการพัฒนาคน อย่าคิดว่าทุกคนมีความสามารถเหมือนกัน" ผศ.ดร.อุษณีย์ ให้แนวทางการตอบสนองเด็กที่มีความสามารถพิเศษ อย่างไรก็ตามคนที่มีความสามารถแปลกประหลาดกว่าคนปกติ เช่น เขียนหนังสือกลับหลัง เขียนจากล่างขึ้นบน อ่านจากขวามาซ้าย ผศ.ดร.อุษณีย์ บอกว่าพวกนี้ไม่ถือว่าอัจฉริยะ แต่จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีภาวะบกพร่องทางการรับรู้ แต่บางครั้งก็อาจเรียกว่ามีวิธีการเรียนต่างจากคนปกติ แต่แปลกที่คนอัจฉริยะหลายคนก็เป็นแบบนี้
'น้องไทเกอร์' เด็กชายธนกร พิศนุภูมิ เด็กชายช่างพูดวัย 4 ขวบเศษกับพฤติกรรมชอบจับดินสอปากกามาขีดเขียนเป็นตัวอักษรภาษาไทยและอังกฤษ ผ่านความรู้สึกนึกคิดของตัวเองมาตั้งแต่อายุสองขวบ หากเป็นเด็กที่เคยเรียนรู้ในชั้นเรียนคงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับพฤติกรรมเช่นนี้ แต่นี่เขาเป็นเพียงเด็กชายในวัยที่ยังไม่เคยรู้จักแม้แต่กระดานดำเลย คุณแม่ปลายรุ่ง พิศนุภูมิ เล่าว่า สังเกตพฤติกรรมลูกมานาน จึงเกิดความสงสัยว่าเด็กวัยแค่นี้ทำไมช่างพูดช่างเขียน เธอทนความอัดอั้นไม่ไหว จึงตัดสินใจไปเล่าให้ครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งฟัง เพราะคิดว่าหากลูกสนใจเรียนรู้จริงๆ ก็จะได้พาไปเข้าโรงเรียนเสียเลย
แต่ด้วยความไม่สนใจหรือความไม่รู้ของครูคนนั้น คำตอบที่ได้รับกลับกลายเป็นว่า นั่นเป็นเพียงความซุกซน ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น และปฏิเสธที่จะรับเข้าโรงเรียน ให้รอจนถึงเกณฑ์เสียก่อน
"เราก็เชื่อที่ครูบอก และด้วยความรำคาญที่ลูกห้ามแล้วไม่ฟัง ตัวเองเลยเก็บปากกาดินสอไปซ่อนไว้กว่า 1 ปีเต็ม เพื่อดัดนิสัยความซุกซน ไทเกอร์จึงหันมาชอบดูรายการเกมโชว์รายการหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการคำนวน แล้วคิดตามเกมจนกระทั่งอายุได้ 3 ขวบ ได้เห็นน้องปืนซึ่งมีแววเป็นเด็กอัจฉริยะมาออกรายการเมืองไทยวาไรตี้ ก็เอะใจทันทีว่าตรงกับน้องไทเกอร์เลย มีแววตั้งแต่อายุ 2 ขวบเหมือนกัน พอรู้ก็เริ่มโทรฯถามผู้รู้แล้วเล่าให้ฟัง นับแต่นั้นก็ปล่อยให้ไทเกอร์ขีดเขียน มีอิสระเต็มที่"
นับแต่นั้นแววฉลาดเกินวัยของเด็กชายก็มากขึ้นเรื่อยๆ บนรถตู้โดยสารขนส่งผู้คนจากนนทบุรีเข้าตัวเมืองกรุงเทพฯ รถแล่นบนทางด่วนซึ่งมีป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 80 กม/ชม.
เด็กชายสังเกตป้ายข้างทาง เห็นว่าคนขับรถตู้เร่งความเร็วเกินกว่าที่ป้ายระบุ จึงโวยวายเพื่อให้คนขับรักษากฎ กรณีนี้หากเป็นเด็กวัยเดียวกันจะไม่เข้าใจในเหตุการณ์ นี่แสดงให้เห็นถึงแววความเป็นเด็กอัจฉริยะของเขา และความเป็นเด็กที่ไม่ชอบอยู่เฉยของน้องไทเกอร์ นับวันพฤติกรรมการชอบขีดเขียนและหัดผสมคำต่างๆ จึงทวีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาจึงเร็วกว่าปกติ
อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากแม่สอนให้ลูกชายใช้สมองคิดเอง และจะไม่พยายามชี้นำ
"เรื่องเค้าโครง เขาถามจากความสงสัยกับแม่ก่อน พอแม่ให้หัดคิดจากต้นแบบไม่กี่คำ เขาก็สามารถขยายเครือข่ายในวงกว้าง" ล่าสุดคุณแม่พาลูกชายไฮเปอร์คนนี้ไปปรึกษากับศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก สภากาชาดไทยตามคำแนะนำของโปรดิวเซอร์รายการทีวีรายการหนึ่ง โดยมีผศ.ดร.อุษณีย์ เป็นผู้รับไว้ในความดูแลอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามแววฉลาดเกินวัยอย่างนี้ ถูกจัดอยู่ในข่ายคนที่มีความสามารถพิเศษเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นอัจฉริยะ และขณะนี้มหาวิทยาลัยของรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง กำลังเร่งวางหลักสูตรพิเศษเพื่อพัฒนาเด็กเข้าข่ายอัจฉริยะ และน้องไทเกอร์ ถือเป็นเด็กรุ่นแรกที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว
'สมอง' พัฒนาไปไกล แต่ไม่สัมพันธ์กับภาวะด้าน 'อารมณ์' เด็กที่มีแววอัจฉริยะหรือมีความสามารถพิเศษส่วนใหญ่จะมีความบกพร่องเรื่องภาวะทางอารมณ์ เป็นเด็ก ขี้หงุดหงิด เบื่อง่าย สมาธิสั้น และมักเก็บอารมณ์ไม่ค่อยอยู่
ผศ.ดร.อุษณีย์ มองว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษบางรายไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่มีปัญหา เด็กบางคนดูปกติมาก แต่เด็กที่มีความสามารถระดับสูง เป็นจีเนียส ก็มีปัจจัยที่ทำให้เขาอาจมีปัญหามากกว่าเด็กอื่นๆ ได้ เป็นความไม่ผสมผสานทางพัฒนาการ เมื่อไม่ผสมผสานก็เกิดความขัดแย้งขึ้นมา อันดับแรกจะเห็นว่าคำถามในใจของเด็กพวกนี้มีอย่างไร้ขอบเขต แล้วไม่ได้เป็นคำถามแห่งความเพ้อฝัน แต่เป็นคำถามเหนือมนุษย์แบบ beyond ability ก็ต้องให้เหนือมนุษย์ตอบ ซึ่งภูมิปัญญาเขาได้ชอนไชไป หลายศาสตร์หลายสาขา อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด แต่ก็น่าเสียดายว่า มนุษย์จัดศาสตร์ไว้เป็นกลุ่มก้อน แบ่งเป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือภาษาศาสตร์ ซึ่งศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้แยกออกจากกัน
"เจอเด็กพวกนี้มากๆ จะพบเลยว่า พวกเขาเป็นตัวแทนของนักปราชญ์ที่แท้จริง เพราะศาสตร์จริงๆ มันบูรณาการไม่ได้แยก เพราะฉะนั้น ตอนตั้งคำถามต้องอาศัยสิ่งที่บูรณาการมากๆ ทำให้คนตอบไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรียนวิทยาศาสตร์แล้วครูตอบไม่ได้มันหงุดหงิดนะ"
ปัญหาเหล่านี้ทำลายความเป็น 'อัจฉริยะ' แค่ไหน จากการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้ข้อมูลที่น่าตกใจว่าคนที่ฉลาดมากๆ แล้วไม่มีโอกาสได้แสดงออก ไม่สามารถแสดงออกตามศักยภาพของตัวเองก็เป็นความเครียด
การไม่เห็นหนทางที่จะใช้ศักยภาพของตัวเองสูงสุด ก็ไม่ต่างกับความรู้สึกของผู้อำนวยการที่ถูกลงโทษด้วยการให้ล้างห้องน้ำ เด็กก็เป็นอย่างนั้น จะคับแค้นใจ เบื่อหน่ายตลอดเวลา และรู้สึกไร้ค่าในตัวเอง สุดท้ายจึงแสดงออกด้วยการอาละวาด
"สิ่งที่เด็กกลุ่มนี้พยายามต่อสู้ คือ เขาจะพยายามทำลายความสามารถของเขาให้เหมือนคนปกติ แล้วการที่พยายามทำลายเอง สุดท้ายก็เป็นคนปกติหรือต่ำกว่าปกติได้ เพราะฉะนั้น คนปัญญาอ่อนจะมาเป็นอัจฉริยะเป็นไม่ได้ แต่อัจฉริยะไปเป็นปัญญาอ่อนมีสิทธิ์ได้มากกว่า เพราะถ้าวิเคราะห์โครงสร้างสมองถ้าไม่ใช้ก็ถูกทำลาย"
พ่อ แม่ควรตั้งรับอย่างไร
ผศ.ดร.อุษณีย์ แนะว่าสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงครูอาจารย์พึงกระทำเป“นอันดับแรก คือ ต้องเปิดใจให้กว้างก่อน ที่ผ่านมา มักพบว่าพ่อแม่ไม่เปิดใจเท่าที่ควร ที่สำคัญอย่าพยายามมุ่งแก้ไขในจุดที่ล้มเหลว ควรมองหาจุดเด่นของเด็กให้ได้เสียก่อน แล้วจึงพัฒนาจากจุดนี้ เพราะคนจะพัฒนาได้ ต้องให้รู้จักยืนอยู่บนขาของตัวเอง ทำในสิ่งที่เขาถนัด
แหล่งส่งเสริมเพิ่มพูนอัจฉริยภาพ
ผู้เชี่ยวชาญให้แนวทางว่า ในการเลี้ยงดูนั้น มีหลายๆ ส่วนที่ควรปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเด็กปกติ แต่บางส่วนก็ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในส่วนที่เขามีความสามารถด้านนั้นๆ
"เรามีโรงเรียนเพื่อเด็กพิเศษทางวิทยาศาตร์ กีฬา ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็น ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ที่มุ่ง ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ แล้วก็มีโรงเรียนกีฬาต่างๆ แต่ทางด้านดนตรียังไม่ทั่วถึง หลายสาขายังไม่เพียงพอ ส่วนที่ศูนย์พัฒนาอัจฉริยะภาพเด็ก ม.ศ.ว.ก็มี ถ้าอยากสำรวจแวว เรารับตั้งแต่ 3-15 ปีมาติดต่อได้"
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนอีกแห่ง ที่เปิดรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง โดยจัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนประจำ ซึ่งหลักสูตรและกิจกรรมได้รับการออกแบบให้เข้ากับเด็กกลุ่มนี้ ที่สำคัญไม่ได้เน้นวิชาการอย่างเดียว แต่เน้นความเป็นคนดี คนเก่งและการที่มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ เป็นการพัฒนาได้ ทุกรูปแบบทั้งเรื่องวิชาการ คุณธรรมและจริยธรรม
"จุดเด่นของหลักสูตรก็คือ นักเรียนที่มาเรียนไม่ใช่เรียนได้จีพีเอ 4.00 แล้วถือว่าเรียนจบ แต่ต้องทำกิจกรรมที่กำหนดด้วย เรียกว่า กิจกรรมต้องทำก่อนสำเร็จการศึกษา เช่น ต้องเข้าค่ายวิชาการอย่างน้อย 1 ครั้ง ค่ายปฏิบัติธรรมอย่างน้อย 1 ครั้ง ต้องอ่านหนังสือจากรายการที่กำหนดให้ซึ่งมีอยู่ 500-600 รายการ ให้ได้อย่างน้อย 50 รายการ เป็นต้น" อาจารย์ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นข้อดีของการมุ่งพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้ตรงจุดด้วยว่า เด็กจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ แล้วสิ่งต่างๆ ที่โรงเรียนให้ ก็มั่นใจว่าเด็กจะได้ประโยชน์มาก เหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองย่อมต้องการให้เด็กเรียนอย่างเต็มศักยภาพ ความอิ่มใจสบายใจก็เกิดขึ้น สุดท้ายจากการปลูกฝังให้พวกเขาค้นคว้าวิจัย ในอนาคตเด็กกลุ่มนี้ก็จะสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้ชาติบ้านเมืองต่อไป
"โดยแท้จริงแล้ว ยังไม่มีโครงการต่อยอด แต่เริ่มมีสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทำหลักสูตรที่เรียกว่าหลักสูตรเกียรตินิยม เพื่อรองรับเด็กเก่งๆ เมื่อจบปริญญาตรีแล้วก็สามารถเข้าไปเรียนปริญญาเอกได้เลยโดยไม่ต้องผ่านปริญญาโท ก็จะมีทางเชื่อมไปแล้วแต่กรณี แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ว่ามันมีลู่ทางต่อยอดถึงปริญญาเอกแค่ไหน แล้วมีโครงการรองรับเด็กเหล่านี้ไปทำงานวิจัยแค่ไหนด้วย ก็เป็นจุดที่อยากเห็นสังคมให้ความสำคัญมากๆ" อาจารย์ธงชัยกล่าวฝากความหวังเอาไว้ จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เด็กกลุ่มนี้สมควรได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อจะได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจไปพร้อมๆ กัน เด็กที่มีความสามารถพิเศษและเด็กอัจฉริยะจึงเปรียบดังกล้าไม้พันธุ์ดี เมื่อเติบโตเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ก็จะให้ร่มเงาและสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างมากในภายภาคหน้า...
วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น